เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจตุรกี เห็นพ้องผลักดันการเยือนระดับสูง เพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุน

เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจตุรกี เห็นพ้องผลักดันการเยือนระดับสูง เพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุน

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ม.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 พ.ย. 2565

| 2,341 view

 

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2556 นายรัฐกิจ มานะทัต เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ได้เข้าพบหารือกับนาย Mustafa Sever รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจตุรกี ซึ่งทั้งสองเห็นพ้องให้ผลักดันให้เกิดการเยือนระดับสูงระหว่างไทย-ตุรกี เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกัน

ทั้งสองเห็นพ้องว่า ไทยและตุรกีมีระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง มีระดับการพัฒนาที่ส่งเสริมเสถียรภาพให้แก่เศรษฐกิจโลก และตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังเป็นประตูไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคระหว่างกันด้วย อย่างไรก็ดี ไทยและตุรกีมีมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันที่ต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริงมาก ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า มีสาเหตุมาจากระดับการสื่อสารและการแลกแปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันที่จำกัด

การผลักดันให้เกิดการเยือนระดับสูงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้เกิดพลวัตแก่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ตุรกี และก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้ โดยเอกอัครราชทูตฯ แจ้งเพิ่มเติมว่า ในครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยจะเดินทางเยือนตุรกี นอกจากนี้ นาย Ahmet Davutoğlu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตุรกี ได้แสดงความประสงค์จะเดินทางเยือนประเทศไทย และนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยตอบรับที่จะเดินทางเยือนตุรกีในหลักการอีกด้วย

ในโอกาสดังกล่าว เอกอัครราชทูตฯ จึงขอเชิญนาย Sever รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจตุรกี และผู้แทนระดับสูงด้านเศรษฐกิจของตุรกี เดินทางเยือนประเทศไทย รวมทั้งขอเชิญนักธุรกิจชาวตุรกีเดินทางไปยังประเทศไทยร่วมกับคณะทางการด้วย เพื่อเห็นศักยภาพทางธุรกิจของไทยด้วยตาตนเอง

เอกอัครราชทูตฯ และรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ยังเห็นพ้องกันด้วยว่า ไทยและตุรกีน่าจะจัดการประชุม Joint Economic Commission ครั้งที่ 4 โดยเร็วที่สุด หลังจากที่ได้ว่างเว้นมานาน นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนคณะนักธุรกิจระหว่างกัน และส่งเสริมการเข้าร่วมงานจัดแสดงสินค้าจะทำให้เกิดการติดต่อสื่อสาร ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนในทีสุด

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้เพิ่มเติมว่า สภาธุรกิจไทย-ตุรกี และสภาธุรกิจตุรกี-ไทย ก็เป็นอีกกลไกหนึ่งเที่จะช่วยผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และที่ผ่านมา สภาธุรกิจฯ ของทั้งสองฝ่ายได้มีกิจกรรมอย่างแข็งขัน

การแลกเปลี่ยนการเยือนและการประชุมที่จะเกิดขึ้นในปี 2556 เชื่อได้ว่า จะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันได้ ในปัจจุบัน อยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นที่พอใจนัก ไทยและตุรกีมีระดับการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น โดยจากจำนวนดังกล่าว 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นการส่งออกจากไทยมายังตุรกี

นาย Sever กล่าวย้ำว่า นอกจากเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันแล้ว จะต้องมีการปรับมูลค่าการค้าให้สมดุลมากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ เห็นพ้อง และได้ระบุเพิ่มเติมว่า การเพิ่มมูลค่าการค้าเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการลดช่องว่างการค้านั้น จะต้องมาพิจารณาโดยละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากตัวเลขการขาดดุลการค้าอาจบิดเบือน เนื่องจากบางครั้งเป็นการนำเข้าสินค้าเพื่อการส่งออกอีกครั้ง (re-export) หรือเป็นการนำเข้าเพื่อนำมาประกอบในตุรกีก่อนส่งออก

สำหรับการลงทุน ทั้งสองประเทศยังมีโอกาสระหว่างกันอีกมาก โดยตุรกีจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 23 ในปีที่แล้ว และลดเพิ่มเติมเหลือร้อยละ 20 ในปีนี้  ขณะที่ไทยสามารถเข้าถึงตลาดยุโรปผ่านตุรกี โดยไม่ต้องเสียภาษี ภายใต้ Customs Union Agreement ระหว่างตุรกีกับสหภาพยุโรปได้อีกด้วย โดยหนึ่งในสาขาที่มีศักยภาพได้แก่อุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งตุรกีเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน

สำหรับกรณีตุรกีบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดกับสินค้าไทย 8 ชนิด ซึ่งเป็นประเด็นที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ให้ความสำคัญมาโดยตลอดนั้น เอกอัครราชทูตฯ ได้ขอความร่วมมือจากฝ่ายตุรกีในการขอรับคำแปลเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นภาษาอังกฤษ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการไทย และแจ้งด้วยว่า ฝ่ายไทยยินดีประสานความร่วมมือกับฝ่ายตุรกีในเรื่องนี้เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทย

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ และรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ยังได้หารือเกี่ยวกับข้อเสนอของตุรกีในการเปิดเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับไทย และข้อกำหนดในการขอรับใบอนุญาตการนำเข้าหินอ่อนตัดของไทย ซึ่งฝ่ายไทยจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับไทย

ในระหว่างการหารือครั้งนี้ น.ส.วิชชุลี โชติเบญจกุล เลขานุการโท จากสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เข้าร่วมการหารือด้วย ส่วนฝ่ายตุรกีมีผู้แทนทั้งสิ้น 6 คน ซึ่งนอกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ แล้ว ยังมี Mr. Ahmet Erkan Çetinkayış รองอธิบดีกรมนำเข้า และนาย Ahmet İlhan Çalıkoğlu หัวหน้าฝ่ายประเทศเอเชีย-แปซิฟิก กรมสนธิสัญญา เข้าร่วมการประชุมด้วย

************

นางสาววิชชุลี โชติเบญจกุล

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ