วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ม.ค. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 เวลา 11.30 - 12.15 น. น.ส.วิชชุลี โชติเบญจกุล เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ได้เข้าพบหารือกับ น.ส.Nazlı Seza Onat ผู้ช่วยผู้เชี่ยวชาญการค้าต่างประเทศ กรมการนำเข้า กระทรวงเศรษฐกิจตุรกี เพื่อหารือเกี่ยวกับขั้นตอนและข้อมูลที่ต้องใช้ในการไต่สวนการทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) เพื่อลดกระทบกรณีผู้ส่งออกไทยถูกตุรกีบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด
น.ส.วิชชุลีฯ ได้แจ้ง น.ส. Onat ว่า สถานเอกอัครราชทูตฯ ต้องการทำความรู้จักกับเจ้าหน้าที่ AD ของกรมเศรษฐกิจตุรกี เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อประสานงานต่อไปในอนาคต รวมทั้งต้องการขอรับข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการ AD ของตุรกี และขอรับคำแปลเอกสารด้านกฎหมาย/กฎระเบียบภายในของตุรกีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลการตัดสินกรณี AD ต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับฝ่ายไทย
แม้ฝ่ายตุรกีจะยืนยันว่า ไม่สามารถจัดแปลเอกสาร โดยเฉพาะผลการตัดสินกรณี AD ต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษได้ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเดียวกันกับประเทศอื่นๆ แต่ก็ให้ความร่วมมือในการอธิบายกระบวนการ AD เป็นอย่างดี
กระบวนการไต่สวน AD ของตุรกีประกอบด้วย 7 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
(1) การรับคำร้อง (Application) จากการรับคำร้องจากอุตสาหกรรมภายใน ซึ่งจะต้องให้หลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าที่กล่าวอ้างว่ามีการทุ่มตลาด ตามที่องค์การการค้าโลกได้กำหนดไว้ โดยเมื่อกระทรวงเศรษฐกิจตุรกี ได้รับคำร้องแล้ว ก็จะแจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตฯ และผู้ส่งออกของไทยทราบโดยตรง
(2) การประเมินความเป็นไปได้ในการทุ่มตลาด (Evaluation) กระทรวงเศรษฐกิจตุรกีจะส่งคำร้องไปยัง คณะกรรมการประเมินการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากการนำเข้าและอากรการทุ่มตลาด (Board of Evaluation of Unfair Competition in Imports and Its Duties) ซึ่งประกอบด้วยภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพิจารณาคำร้อง
(3) การเปิดการไต่สวน (Initiation of Investigation) หากคณะกรรมการฯ เห็นชอบที่จะรับคำร้องในการพิจารณาการทุ่มตลาดของสินค้านำเข้าชนิดดังกล่าว กระทรวงเศรษฐกิจตุรกีจะจัดทำแถลงการณ์ (Communiqué) และประกาศการเปิดการไต่สวนในกิจจานุเบกษา (Gazette) ตลอดจนแจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตฯ และผู้ส่งออกของไทยได้รับทราบโดยตรง พร้อมขอให้ผู้ส่งออกกรอกแบบสอบถาม (ภาษาอังกฤษ) และส่งกลับให้กระทรวงเศรษฐกิจตุรกีภายใน 37 วัน จากวันที่มีหนังสือแจ้ง ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสามารถยื่นคำร้องต่อกระทรวงเศรษฐกิจตุรกีเพื่อขยายเวลาในการตอบแบบสอบถามได้
(4) การประมวลข้อมูล (Gathering and Verification of Information) เมื่อได้รับข้อมูลมาแล้ว กระทรวงเศรษฐกิจตุรกีจะประมวลข้อมูล และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่กระทรวงเศรษฐกิจตุรกีอาจเดินทางไปตรวจสอบบริษัทผู้ส่งออก โดยบริษัทจะได้รับแจ้งล่วงหน้า รวมถึงจะแจ้งข้อมูลที่ฝ่ายตุรกีต้องการได้รับจากการเดินทางไปตรวจสอบให้ผู้ส่งออกทราบด้วย ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการตรวจเยี่ยมบริษัทผู้ส่งออกมีหลายประการ อาทิ จำนวนสินค้าที่ส่งออกมายังตุรกีและส่วนแบ่งทางการตลาดในตุรกี เป็นต้น จากนั้น กระทรวงเศรษฐกิจตุรกีจะพิสูจน์ความถูกต้องและประมวลข้อมูลอีกครั้ง ทั้งนี้ ตุรกีไม่กำหนดช่วงเวลาในการประมวลข้อมูลเป็นการเฉพาะ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อมูลที่ได้รับจากผู้ส่งออก
(5) การเปิดเผยข้อมูลครั้งสุดท้าย (Final Disclosure) เมื่อประมวลข้อมูลเสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงเศรษฐกิจตุรกีจะแจ้งผลการตัดสินในเบื้องต้นให้สถานเอกอัครราชทูตและผู้ส่งออกรับทราบโดยตรง หากบริษัทผู้ส่งออกไม่พอใจต่อผลการตัดสินดังกล่าว ก็สามารถยื่นข้อมูลเพิ่มเติมต่อกระทรวงเศรษฐกิจตุรกีเพื่อประกอบการตัดสินครั้งสุดท้าย โดยปกติแล้ว จะให้เวลาในการยื่นข้อมูลประมาณ 10 วัน หลังจากที่ตุรกีประกาศผลการตัดสินในเบื้องต้น
(6) การเปิดรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลครั้งสุดท้ายและรับฟังข้อมูลเพิ่มเติม กระทรวงเศรษฐกิจตุรกีจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตฯ บริษัทผู้ส่งออกไทย และผู้แทนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบในตุรกี ทั้งนี้ ไม่มีการกำหนดระยะเวลาว่า หลังจากการเปิดเผยข้อมูลและเปิดให้ยื่นข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว จะเว้นระยะเป็นเวลากี่วันก่อนที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็น แต่จากกรณีที่ผ่านมา เว้นระยะเพียง 6 วันเท่านั้น
(7) ผลการตัดสินขั้นสุดท้าย (Final Result) ตุรกีจะจัดทำแถลงการณ์ ระบุผลการตัดสินขั้นสุดท้าย และประกาศในกิจจานุเบกษา พร้อมแจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตฯ และผู้ส่งออกรับทราบ และไม่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นกับการประกาศผลการตัดสินขั้นสุดท้าย แต่จากกรณีที่ผ่านมาใช้เวลาประมาณ 2 เดือน
นอกจากนี้ น.ส. Onat ยังได้แจ้งว่า กระทรวงเศรษฐกิจตุรกีได้จัดทำคำแปลกฎระเบียบ AD ของตุรกีเป็นภาษาอักงฤษ และได้บรรจุไว้ในเว็บไซต์ www.tpsa.gov.tr ด้วย นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังจัดให้สามารถดาวน์โหลดจากเว็บลิงค์ด้านล่างได้เช่นกัน
กระบวนการ AD ตามปกติใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก่อนที่จะมีการตัดสินขั้นสุดท้าย หากผู้ส่งออกเห็นว่า ผลการตัดสินไม่เป็นธรรม ก็สามารถยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลกได้ (World Trade Organization - WTO)
ปัจจุบัน มีสินค้าไทย 8 ชนิดที่ตุรกีบังคับใช้มาตรการ AD ได้แก่ ผ้าผืนทำด้วยด้ายสังเคราะห์ เส้นใยสังเคราะห์ชนิดสั้น (PSF) ยางในรถจักรยาน ยางในรถจักรยานยนต์ ข้อต่อท่อเหล็ก ดินสอและดินสอสี ทำจากกราไฟต์ เส้นด้ายที่ทำจากโพลีเอสเตอร์ ด้ายและด้ายชนิดคอร์ดที่ทำจากยางวัลแคไนซ์ และเพิ่งเปิดการพิจารณาไต่สวนสินค้าด้ายทำจากเส้นใยสังเคราะห์และเส้นใยเทียมไม่ต่อเนื่อง (thread made from synthetic and artificial discontinuous fiber) มีเลขที่ศุลกากรที่ 5508 5509 5510 และ 5511 (ยกเว้น 5509.52 5509.61 5509.91 5510.20) เมื่อเดือนตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา
ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เป็นตัวกลางในการประสานงาน และติดตามความคืบหน้ากรณี AD ต่างๆ ของไทยในตุรกี กับกระทรวงเศรษฐกิจตุรกีมาโดยตลอด รวมทั้งได้แปลเอกสารจากภาษาตุรกีเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อส่งให้กับกระทรวงพาณิชย์ ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ และได้สำเนาประสานงานตรงกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานการค้าระหว่างประเทศ ณ นครอิสตันบูล และสภาธุรกิจไทย-ตุรกี นอกจากนี้ ที่ผ่านมา สำนักงานการค้าระหว่างประเทศ ณ นครอิสตันบูล ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมในการเปิดรับฟังความคิดเห็นด้วย
ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ยินดีให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในการติดตามความคืบหน้าในกระบวนการไต่สวน AD ในตุรกีต่อไปในอนาคต
*****************
น.ส.วิชชุลี โชติเบญจกุล
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา
รูปภาพประกอบ
เวลาทำการให้บริการด้านการกงสุลต่าง ๆ
จันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 9.30 - 16.00 น. (พักกลางวัน 12.00-13.00 น.)
อังคาร พฤหัสบดี เวลา 9.30 - 12.00 น.
*** รับเฉพาะคิวนัดหมายทางออนไลน์ล่วงหน้า (ยกเว้นการรับรองเอกสาร) ***
https://rteankara.setmore.com/
สามารถรับเอกสารที่ขอรับบริการได้เวลา 09.30-10.30 และ 15.00-16.00 น. ของวันทำการ