วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ต.ค. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 รองศาสตราจารย์ ดร. วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) และคณะ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายธฤต จรุงวัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา (ออท.) เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านมาตรฐานและการค้าสินค้าฮาลาลระหว่างไทย-ตุรกี และการส่งเสริมบทบาทของไทยในการสร้างมาตรฐานกลางฮาลาลในกลุ่ม OIC
คณะประกอบด้วยรองศาสตราจารย์ ดร. วินัยฯ รองศาสตราจารย์ ดร. ปกรณ์ ปรียากรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย นายสมาน อาดัม นายรัศมี ดำชะไว รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดตราด และจังหวัดปทุมธานี และ ดร.ภาณุมาศ ซันอาลี หัวหน้านักวิจัย หน่วยวิจัยและนวัตกรรม ศวฮ. ได้รับเชิญจาก Turkish Accreditation Agency ให้เข้าร่วมงาน International Halal Accreditation Forum (IHAF) 2013 ระหว่างวันที่ 23-28 ตุลาคม 2556 ณ นครอิสตันบูล ในโอกาสนี้ จึงได้ขอเข้าเยี่ยมคารวะ ออท. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสความร่วมมือด้านกิจการด้านฮาลาลระหว่างไทย-ตุรกี
รองศาสตราจารย์ ดร. วินัยฯ ได้ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาลโครงสร้างเดียว และตราเดียว ซึ่งเป็นความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ อีกทั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เป็นผู้คิดค้นการใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าฮาลาลตามหลักศาสนาอิสลามแห่งแรกในโลกเช่นกัน ศวฮ. จะทำงานสนับสนุนการตรวจสอบสินค้าฮาลาลอย่างใกล้ชิดร่วมกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวในประเทศไทยที่มีอำนาจในการออกตรารับรองสินค้าฮาลาล
อุตสาหกรรมฮาลาลเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีแนวโน้มเติบโตสูง มีการคาดการณ์ว่า ตลาดอาหารฮาลาลโลกมีมูลค่าประมาณ 6.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และระหว่างปี 2547-2553 อัตราการขยายตัวของตลาดอาหารฮาลาลโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 11 ต่อปี ปัจจุบัน ไทยได้ออกตรารับรองมาตรฐานฮาลาลให้กับสินค้าต่างๆ จำนวนมากที่สุดในโลก โดยตลาดสินค้าฮาลาลของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก การที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่สำคัญของโลกจึงทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการขยายส่วนแบ่งตลาดอาหารฮาลาลโลกในอนาคตได้อีกมาก
ออท. ได้รับแจ้งในระหว่างการหารือว่า องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of the Islamic Conference – OIC) นำโดยตุรกี มีความพยายามที่จะสร้างมาตรฐานกลางของฮาลาลในประเทศมุสลิม และโดยที่ไทยมีประสบการณ์ด้านการรับรองมาตรฐานฮาลาลมายาวนาน ออท. และคณะจึงเห็นพ้องว่า ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้เล่นสำคัญในการกำหนดมาตรฐานกลางฮาลาลของ OIC ซึ่งไทยมีฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์อยู่
ในโอกาสเดียวกันนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. วินัยฯ ได้แจ้งด้วยว่า ศวฮ. พร้อมที่จะสนับสนุนทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแก่ฝ่ายตุรกีต่อไปด้วย ซึ่ง ออท. ยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และเชื่อว่าเป็นลู่ทางในการสร้างเครือข่ายมาตรฐานฮาลาลระหว่างไทย-ตุรกีต่อไป
*****
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา
25 ตุลาคม 2556
รูปภาพประกอบ
เวลาทำการให้บริการด้านการกงสุลต่าง ๆ
จันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 9.30 - 16.00 น. (พักกลางวัน 12.00-13.00 น.)
อังคาร พฤหัสบดี เวลา 9.30 - 12.00 น.
*** รับเฉพาะคิวนัดหมายทางออนไลน์ล่วงหน้า (ยกเว้นการรับรองเอกสาร) ***