ด้านความสัมพันธ์ นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้พบนายกรัฐมนตรีตุรกีอีกครั้งหลังจากที่ได้พบกันระหว่างการประชุม Bali Democracy Forum เมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว พร้อมทั้งแสดงความขอบคุณที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นทั้งสองฝ่ายยืนยันความสัมพันธ์ไทย-ตุรกี มีความราบรื่น โดยในปี 2561 ซึ่งเป็นปีครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ตุรกี 60 ปี จะมีการจัดกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ที่ยาวนานและแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ อีกทั้งการพบปะกันในครั้งนี้มีพัฒนาการที่เป็นรูปธรรม โดยจะได้ลงนามแผนปฏิบัติการร่วมระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับความร่วมมือของทั้งสองประเทศให้กลายเป็นหุ้นส่วนที่มีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น
ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดทำความตกลง FTA ไทย-ตุรกี โดยเริ่มต้นศึกษาความเป็นไปได้ (Joint feasibility study) ร่วมกันก่อน และเห็นควรที่จะเพิ่มมูลค่าทางการค้าอย่างเป็นรูปธรรมใน 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียืนยันว่าสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจไทยกลับสู่ภาวะปกติ และเชิญชวนให้ภาคเอกชนตุรกีเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาก่อสร้าง ซึ่งตุรกีมีศักยภาพสูงเป็นอันดับสองของโลก และในการเยือนครั้งนี้ได้นำภาคเอกชนไทยในด้านต่างๆ อาทิ พลังงาน ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารฮาลาล ก่อสร้าง และสิ่งทอ เพื่อแสวงหาลู่ทางการลงทุนใหม่ๆ ในด้านที่ตุรกีมีศักยภาพ
ความเชื่อมโยง ทั้งสองประเทศต่างให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงทางการขนส่งเพื่อเชื่อมโยงแต่ละภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีแจ้งว่าไทยจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานกว่า 66 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงลาว และจีน รวมไปถึงรัสเซียและยุโรป เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของประชาคมอาเซียน และไทยยังสนใจที่จะพัฒนาตุรกีเชิญเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงกับโครงการ New Silk Road ของตุรกีเพื่อเชื่อมทวีปเอเชีย-ยุโรปด้วย
การท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ประชาชนเดินทางติดต่อกันมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่ทั้งสองประเทศประกาศยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางธรรมดาให้แก่กัน นอกจากนี้รัฐบาลไทยได้วางแผนที่จะเปิดสถานกงสุลประจำเมืองอันทาเลียและนครอิซเมียร์ เช่นเดียวกับฝ่ายตุรกีได้วางแผนจะเปิดสถานกงสุลที่ภูเก็ตและเชียงใหม่ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการติดต่อระหว่างประชาชน ตลอดจนสนับสนุนการท่องเที่ยวและการค้าในอนาคต
การศึกษาและวัฒนธรรม นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณรัฐบาลตุรกีที่มอบการศึกษาให้กับนักเรียนไทยทุกปี และฝ่ายไทยยินดีที่จะให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนตุรกีเช่นกัน และเมื่อต้นปีนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ร่วมมือกับ Ankara University ของตุรกี จัดตั้งศูนย์ตุรกีแห่งแรกในประเทศไทยที่วิทยาเขตปัตตานี ด้วย นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังชื่นชมตุรกีในฐานะประเทศผู้มีบทบาทหลักด้านมุสลิมสายกลาง ไทยจึงหวังให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการฝึกอบรมผู้สอนศาสนาอิสลามเพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านศาสนา โดยเฉพาะจังหวัดในภาคใต้ของไทยที่มีประชากรมุสลิมจำนวนมาก
องค์การความร่วมมือศาสนาอิสลาม (OIC) นายกรัฐมนตรีขอบคุณตุรกีที่เข้าใจสถานการณ์ของประเทศไทยและสนับสนุนไทยในกรอบ OIC อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไทยขอยืนยันว่าจะยุติความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี และให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนและหลักนิติรัฐ
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือเต็มคณะ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีตุรกีเป็นประธานในพิธีลงนามความตกลง จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1. สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา2.แผนปฏิบัติการร่วมไทย-ตุรกี 3.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการและการฝึกอบรมนักการทูตระหว่างสถาบันการต่างประเทศของไทยกับตุรกี
จากนั้นนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีตุรกี ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายกรัฐมนตรีแถลงดังนี้
นายกรัฐมนตรีขอบคุณนายกรัฐมนตรี แอร์โดอาน แห่งตุรกี ที่ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะในการเดินทางเยือนตุรกีครั้งนี้อย่างอบอุ่น และชื่นชมตุรกีซึ่งเป็นประเทศที่รวมความเจริญยุคใหม่ และอารยธรรมยุคเก่าได้อย่างลงตัว อีกทั้งเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจโลก ไทยสนับสนุนตุรกีตามแนวทางประชาธิปไตย และรัฐบาลตุรกีที่มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังยินดีที่ได้มาเยือนอิสตันบูล ซึ่งเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ตุรกีดำเนินมากว่า 55 ปี ไทยและตุรกีต่างเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันในหลายมิติ และในวันนี้นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีตุรกี ต่างเห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์ในอนาคต
แผนปฏิบัติการร่วมไทย-ตุรกี ซึ่งได้ลงนามกันไปนั้นจะเป็นกลไกสำคัญในการขยายความร่วมมือในทุกมิติ สำหรับการขยายความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุน ไทย-ตุรกีเห็นพ้องที่จะเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกันภายใน 5 ปีข้างหน้า ด้วยเหตุนี้การเดินทางเยือนตุรกีครั้งนี้จึงมีคณะนักธุรกิจไทยเดินทางร่วมคณะ และสนใจที่จะแสวงหาความร่วมมือในด้าน พลังงาน อาหาร และการท่องเที่ยว นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำกับนายกรัฐมนตรีตุรกีว่าจะมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้เพื่อหาข้อสรุปในการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ตุรกี
ทั้งสองประเทศต่างเคารพถึงความแตกต่างและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ นายกรัฐมนตรีขอบคุณนายกรัฐมนตรีตุรกีที่เข้าใจและสนับสนุนไทยต่อการสร้างความสงบสุขแก่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย รวมถึงขอบคุณนายกรัฐมนตรีตุรกีที่มอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนไทย ซึ่งเด็กเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นมุสลิมจากจังหวัดชายแดนใต้ และการมอบการศึกษาของตุรกีจะช่วยเตรียมความพร้อมให้เด็กเหล่านั้นนำกลับไปพัฒนาบ้านเกิด
ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงดินแดนยูเรเซีย ไทยยินดีที่จะสนับสนุนโครงการ New silk road ของตุรกีเพื่อเชื่อมโยงเอเชียและยุโรปด้วยเส้นทางรถไฟผ่านตุรกี และชื่นชมโครงการพัฒนาอุโมงค์รถไฟ Marmarayซึ่งได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม ในส่วนของประเทศไทยได้มีโครงการลงทุนกว่า 66 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในการพัฒนาด้านการขนส่งและจะสนับสนุนโครงการ New Silk Route ภายใต้กรอบ ACD ซึ่งหากสองโครงการนี้บรรลุผลจะช่วยเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง กับยุโรป และแอฟริกา ผ่านเส้นทางของตุรกี ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียินดีสนับสนุนตุรกีในการเข้าเป็นสมาชิก ACD
นายกรัฐมนตรีขอบคุณนายกรัฐมนตรีตุรกีที่เป็นเจ้าภาพที่ดีเยี่ยมและหวังว่าจะมีโอกาสได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีตุรกีในการเดินทางเยือนไทยในอนาคต
ที่มา: ศูนย์ข่าวทำเนียบรัฐบาล