ผู้สื่อข่าวไทยสำรวจลู่ทางธุรกิจในตุรกี

ผู้สื่อข่าวไทยสำรวจลู่ทางธุรกิจในตุรกี

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 พ.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,327 view

 

ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจของไทย 3 ราย ได้เดินทางเยือนตุรกี ระหว่างวันที่ 27 เม.ย. – 3 พ.ค. 2556 เพื่อสำรวจลู่ทางธุรกิจในตุรกี ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์ไทย-ตุรกี ผ่านสื่อมวลชนด้านเศรษฐกิจ”

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ได้เชิญนางธนิดา ตัณศุภผล หนังสือพิมพ์ Bangkok Post นางสาวชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และนางสาว ขนิษฐา เทพจร หนังสือพิมพ์คมชัดลึก เพื่อเดินทางไปนครอิสตันบูล นครอิซเมียร์ และเมืองอันทาเลีย เพื่อสำรวจศักยภาพทางเศรษฐกิจของตุรกี โดยมีนางสาววิชชุลี โชติเบญจกุล เลขานุการโท จากสถานเอกอัครราชทูตฯ เป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโครงการ โดยได้ร่วมเดินทางไปกับคณะตลอดโครงการด้วย

ในระหว่างการเข้าร่วมโครงการฯ นายรัฐกิจ มานะทัต เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวไทยเกี่ยวกับศักยภาพทางเศรษฐกิจของตุรกี และแนวทางในการร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-ตุรกี นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกำหนดการเดินทางเยือนตุรกีของนายกรัฐมนตรีในช่วงเดือนกรกฎาคม 2556 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของไทยในการกระชับความสัมพันธ์อย่างรอบด้านกับตุรกี เนื่องจากตุรกีกำลังมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งทางด้านการเมือง ความมั่นคงในภูมิภาค และเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญกับตุรกี โดยกระทรวงการต่างประเทศได้จัดให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา เป็นสถานเอกอัครราชทูตที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อการต่างประเทศของไทย  (Strategic Post) ด้วย

จากนั้น เอกอัครราชทูตฯ ได้จัดเลี้ยงอาหารค่ำ (Working Dinner) ให้แก่ผู้สื่อข่าว โดยมีนาย Refik Gökçek ประธานสภาธุรกิจตุรกี-ไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ณ นครอิสตันบูลด้วย นาย Cemil Çakar ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการพาณิชย์ สมาชิกคณะกรรมการสภาฯ และผู้บริหารบริษัท CP Turkey เข้าร่วมด้วย ในระหว่างการรับประทานอาหารค่ำ ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสหารือเกี่ยวกับการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและตุรกี ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมของสภาธุรกิจตุรกี-ไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้วย

จากนั้น ผู้สื่อข่าวทั้ง 3 ราย ได้เข้าพบกับหน่วยงานภาคเอกชนของตุรกี 9 แห่ง จากหลากหลายองค์กร และอุตสาหกรรม เพื่อรวบรวมข้อมูลศักยภาพทางเศรษฐกิจของตุรกี เช่น คณะกรรมการความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจรระหว่างประเทศ (DEIK) สมาคมผู้ก่อสร้างตุรกี องค์กรเพื่อการพัฒนาอิซเมียร์ ท่าเรืออิซเมียร์ อุตสาหกรรมอิซเมียร์ องค์กรเพื่อการพัฒนาภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตกในอันทาเลีย และหน่วยงานด้านการเกษตรและปศุสัตว์ของอันทาเลีย เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้มีโอกาสพบกับเจ้าของร้านอาหารไทย 2 แห่ง ในนครอิสตันบูล คนไทยที่ทำงานในอันทาเลีย ทั้งพ่อครัวร้านอาหารญี่ปุ่น ผู้จัดการแผนกนวดไทยในสปาตุรกี และพนักงานนวดไทยที่ทำงานในอันทาเลีย ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลู่ทางการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับประเทศไทยในตุรกี นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้พบกับนักเรียนนักศึกษาในนครอิซเมียร์กับอันทาเลีย เพื่อสอบถามประสบการณ์การเรียนรู้และการใช้ชีวิตในตุรกีอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวได้กล่าวว่า การร่วมเดินทางกับสถานเอกอัครราชทูตฯ ในครั้งนี้ ทำให้เข้าใจตุรกีมากยิ่งขึ้น ทั้งบทบาทด้านการเมืองระหว่างประเทศของตุรกี ความยิ่งใหญ่ด้านเศรษฐกิจของตุรกี และประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมที่ยาวนานของตุรกี ที่ส่งผลให้ตุรกีมีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ได้ในปัจจุบัน

ปัจจุบัน ตุรกีมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 17 ของโลก มีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และการต่อรถยนต์ อุตสาหกรรมเหล็ก สิ่งทอ และการเกษตรขนาดใหญ่ ในภาคบริการ ตุรกีเป็นผู้นำอันดับ 2 ด้านการก่อสร้างของโลก มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ มีนักท่องเที่ยว 36.7 ล้านคนในปี 2555 ซึ่งเดินทางมาชมประวัติศาสตร์อันยาวนานและธรรมชาติของตุรกี ทำให้ตุรกีดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของตุรกีทำให้ตุรกีเป็นที่น่าดึงดูดของอุตสาหกรรมต่างๆ การตั้งโรงงานในตุรกีและการส่งออกสินค้าจากตุรกีไปยังสหภาพยุโรปจะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร เนื่องจากตุรกีได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพศุลกากรของยุโรปแล้ว กอปรกับการส่งสินค้าจากตุรกีไปยังภูมิภาคอื่นๆ เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และแอฟริกาเหนือก็สะดวกเช่นกัน ภาคธุรกิจของไทยจึงน่าจะใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจจากจุดเด่นดังกล่าวของตุรกีให้มากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ยังมีผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่มากนักที่ดำเนินธุรกิจในตุรกี CP เป็นธุรกิจเดียวในตุรกีที่ลงทุนโดยผู้ประกอบการไทยทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2529 ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เนื้อไก่ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากไก่ ในส่วนที่เหลือจะเป็นคนไทยที่ทำงานในตุรกีประมาณ 300 คน จาก 500 คน ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นพ่อครัวร้านอาหารญี่ปุ่น พนักงานนวดแผนไทย และช่างเจียระไนอัญมณีและขึ้นรูปเครื่องประดับ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา นักธุรกิจไทยในด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) อุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ได้เดินทางมาแสวงลู่ทางการค้าที่ตุรกีอย่างต่อเนื่อง

---------

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา

7 พฤษภาคม 2556

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ