เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 นายรัฐกิจ มานะทัต เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐตุรกี ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำจอร์เจียอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ได้เดินทางไปยังกรุงทบิลิซิ ประเทศจอร์เจียเพื่อยื่นพระราชสาส์นตราตั้งต่อนาย Mikheil Saakashvili ประธานาธิบดีเเห่งจอร์เจีย ซึ่งภายหลังพิธียื่นพระราชสาส์นตราตั้ง ประธานาธิบดี Saakashvili ได้มีสุนทรพจน์สั้น ๆ กล่าวขอบคุณรัฐบาลต่างประเทศที่เคารพในบูรณภาพทางดินแดนของจอร์เจียมาโดยตลอด ทั้งนี้ สามารถชมบรรยากาศพิธียื่นพระราชสาส์นตราตั้งดังกล่าวได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=DpNln8dZr4c&feature=youtu.be
ทั้งนี้ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เอกอัครราชทูตฯ ได้เข้าร่วมพิธียื่นสำเนาพระราชสาส์นตราตั้งต่อนาย Davit Jalaghania รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจอร์เจีย รวมทั้งได้หารือกับนาย Jalaghania โดยมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจอร์เจีย ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี และในทุกมิติ ทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจ (การค้าการลงทุน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติการเมืองและเศรษฐกิจ (การค้า/การลงทุน)
ระหว่างการเยือนจอร์เจีย เอกอัครราชทูตฯ ยังได้พบหารือกับผู้บริหารระดับสูงภาคธุรกิจ/เอกชนของจอร์เจียที่สำคัญ ได้แก่ นาย Giorgi Pertaia (Head of the Georgian National Investment Agency) นาย Kakha Baindurashvili Prsesident of the Georgian Chamber of Commerce and Industry) และผู้บริหารสมาคมไวน์แห่งจอร์เจียตามลำดับ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับศักยภาพด้านการค้าการลงทุน เศรษฐกิจของจอร์เจีย ซึ่งจากการรับฟังข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานทั้งสาม ทำให้ทราบว่าจอร์เจียเป็นตลาดใหม่ที่น่าจับตา เนื่องจากมีบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการลงทุน มีความเป็นตลาดเสรี มีการผ่อนปรนกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการเปิดกิจการ/ประกอบธุรกิจ รวมทั้งมีทำเลที่ตั้งที่เอื้อต่อการเข้าถึงตลาดใกล้เคียงทั้งในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค โดยสาขาที่มีศักยภาพสที่จอร์เจียมีศักยภาพประสงค์ให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนมี 5 สาขา ประกอบด้วย (1) พลังงานน้ำ มีทรัพยากรน้ำต่อหัวประชากรมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ศักยภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันยังถูกใช้ไม่เต็มที่ และมีรัสเซียและตุรกีเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญที่จะรองรับพลังงานน้ำที่ผลิตในจอร์เจีย (2) การเกษตร เนื่องจากจอร์เจียพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศอย่างมาก รัฐบาลจอร์เจียจึงมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร/อาหารเพื่อทดแทนการนำเข้า มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตรและปศุสัตว์ แต่ยังขาดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นโอกาสดีของนักลงทุนต่างประเทศ (3) อุตสาหกรรมการผลิต สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า สาขาที่มีศักยภาพในการลงทุน ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง/ตกแต่ง และอาหารแปรรูป (4) การท่องเที่ยว จากสถิติเมื่อปี 2012 มีนักท่องเที่ยวมาจอร์เจียประมาณ 4.5 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนเท่า ๆ กับ ปชก. ของจอร์เจีย และมีแนวโน้มที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (5) การขนส่งและโลจิสติกส์ เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบของจอร์เจียซึ่งเชื่อมโยงยุโรปเข้ากับเอเชียกลาง มีพรมแดนติดกับตุรกี และอยู่ไม่ไกลจากตะวันออกกลาง ประกอบกับมีความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง จอร์เจียจึงเป็น transit corridor ซึ่งบรรษัทข้ามชาติต่าง ๆ เห็นประโยชน์และเข้ามาลงทุนเพื่อเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้า อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์จึงเป็นอีกสาขาที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุน
นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ยังได้พบปะกับชุมชนไทยในจอร์เจีย เพื่อสอบถามสภาพความเป็นอยู่ สภาพการทำงาน รวมทั้งให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการดำเนินชีวิตของชุมชนไทยในต่างประเทศ ในปัจุจุบัน มีคนไทยพำนักอยู่ในจอร์เจียประมาณ 30 คน