วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ส.ค. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ 13-17 สิงหาคม 2556 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนนครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี โดยในระหว่างการเสด็จเยือน ได้พระราชทานพระวโรกาสให้ชุมชนไทยในตุรกีเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด และทรงเข้าร่วมการประชุมเคมีโลก ครั้งที่ 44 ของสหภาพเคมีบริสุทธิ์และเคมีประยุกต์ระหว่างประเทศ
ในวันที่ 14 สิงหาคม 2556 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานพระวโรกาสให้ชุมชนชาวไทยที่อาศัยอยู่ในสาธารณรัฐตุรกีเข้าเฝ้า ณ โรงแรม Çirağan Palace Kempinski นครอิสตันบูล โดยมีคนไทย และครอบครัวเข้าเฝ้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 70 คน
ในโอกาสเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้มีพระกรุณาธิคุณทรงกู่เจิง เครื่องดนตรีจีนโบราณอันไพเราะ ให้กับชุมชนชาวไทยในตุรกีได้ชื่นชมในพระปรีชาสามารถอีกด้วย
ภายในงานยังมีการจัดแสดงสร้อยฝีพระหัตถ์ใน “โครงการถักร้อย-สร้อยรัก” เพื่อสมทบทุน “มูลนิธิจุฬาภรณ์” สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้ และผลิตภัณฑ์ “ดร.น้ำใจ” เพื่อสมทบทุน “กองทุนรักษาพยาบาลสัตว์ป่วยอนาถา” ด้วย ซึ่งคนไทยในตุรกีได้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนกองทุนทั้งสองด้วย
ในระหว่างการเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้มีพระกรุณาธิคุณพระราชทานสร้อยฝีพระหัตถ์และผลิตภัณฑ์ “ดร. น้ำใจ” ให้แก่ชาวไทยในตุรกีที่ได้ร่วมกันบริจาคเพื่อสมทบทุนกองทุนต่างๆ ซึ่งชุมชนไทยในตุรกีรู้สึกซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับพระราชทานวโรกาสกับคนไทยในตุรกีอย่างใกล้ชิดในโอกาสนี้
จากนั้น ในวันที่ 15 สิงหาคม 2556 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ทรงเข้าร่วมการประชุมเคมีโลก (World Chemistry Congress) ครั้งที่ 44 ของสหภาพเคมีบริสุทธิ์และเคมีประยุกต์ระหว่างประเทศ (International Union of Pure and Applied Chemistry – IUPAC) ณ นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี
ในการประชุมดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ได้ทรงบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การค้นคว้าใหม่ๆ ของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพจากทรัพยากรชีวภาพไทย” (Recent Investigation of Bioactive Natural Products from Thai Biosources) โดยได้ทรงยกตัวอย่างผลการวิจัยแยกสารจากเชื้อราในต้นไม้และสมุนไพรของไทย โดยหลังจากกระบวนการทางเคมีแล้ว จะได้สารบริสุทธ์ต่างๆ ที่หลากหลายที่ยังไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน และมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่ดีด้วย ในระหว่างการประชุม มีผู้เข้าร่วมฟังการทรงบรรยายพิเศษจากหลากหลายประเทศกว่า 200 คน
IUPAC เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความก้าวหน้าด้านเคมีในระดับสากล และให้ความร่วมมือด้านเคมีประยุกต์ในด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ และเป็นองค์กรหลักในด้านการสร้างระบบมาตรฐานในการเรียกชื่อสารเคมีในระดับระหว่างประเทศ ปัจจุบัน IUPAC มีสมาชิกจำนวน 57 องค์กร ทั้งจากภาครัฐ และสถาบันทางวิชาการต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย IUPAC มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์
ทั้งนี้ เมื่อปี 2555 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ทรงได้รับคัดเลือกและถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์สตรีสาขาเคมีและวิศวกรรมเคมี” จาก IUPAC ที่เครือรัฐเปอร์โตริโก้ ซึ่งนับเป็นรางวัลที่เป็นเกียรติสูงสุดของโลกด้านเคมีสำหรับสตรีรางวัลหนึ่งเมื่อวันที่ 13-17 สิงหาคม 2556 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนนครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี โดยในระหว่างการเสด็จเยือน ได้พระราชทานพระวโรกาสให้ชุมชนไทยในตุรกีเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด และทรงเข้าร่วมการประชุมเคมีโลก ครั้งที่ 44 ของสหภาพเคมีบริสุทธิ์และเคมีประยุกต์ระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ สามารถชมพระกรณียกิจจากข่าวในพระราชสำนักได้ตามลิงค์ด้านล่าง
พระกรณียกิจวันที่ 13 สิงหาคม 2556
http://www.mcot.net/site/
*****
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา
รูปภาพประกอบ
เวลาทำการให้บริการด้านการกงสุลต่าง ๆ
จันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 9.30 - 16.00 น. (พักกลางวัน 12.00-13.00 น.)
อังคาร พฤหัสบดี เวลา 9.30 - 12.00 น.
*** รับเฉพาะคิวนัดหมายทางออนไลน์ล่วงหน้า (ยกเว้นการรับรองเอกสาร) ***