หนังสือเดินทางสำหรับบุคคลทั่วไป (อายุไม่เกิน 5 ปี)

หนังสือเดินทางสำหรับบุคคลทั่วไป (อายุไม่เกิน 5 ปี)

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 ต.ค. 2566

| 85,640 view

การทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ (อายุไม่เกิน 5 ปี) 

 

เอกสารประกอบการขอหนังสือเดินทาง

1.  บัตรประจำตัวประชาชน ที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก (ฉบับจริง) 

2.  สำเนาทะเบียนบ้านของไทย ที่มีชื่อผู้ยื่นคำร้องถูกต้อง (ไม่อยู่ระหว่างการย้ายหรืออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง หรือขัดข้องด้วยเหตุอื่น) 

3.  หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน 

4.  เอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อ/นามสกุล สมรสหรือหย่า เช่น ใบเปลี่ยนชื่อและสกุล  ใบสำคัญการสมรส ใบสำคัญการหย่า

 

1. ผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี

ระเบียบการขอหนังสือเดินทางของผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี

ผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องนำสูติบัตรฉบับจริง แต่หากเป็นสำเนา ต้องได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องจากอำเภอ /เขต มาแสดงพร้อมผู้มีอำนาจปกครอง หากผู้มีอำนาจปกครองไม่สามารถมาดำเนินการได้ สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทนได้ โดยต้องมีหนังสือมอบอำนาจและหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศพร้อมทั้งบัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดาและ/ หรือผู้มีอำนาจปกครองฉบับจริงมาแสดง ทั้งนี้ หนังสือมอบอำนาจและหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศต้องผ่านการรับรองจากอำเภอ/ เขต และผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี จะต้องมีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งมาแสดงตัวให้ความยินยอมในการทำหนังสือเดินทาง

เอกสารประกอบการขอหนังสือเดินทางธรรมดาของผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี

  1. สูติบัตรฉบับจริง หากเป็นสำเนาสูติบัตรต้องได้รับการรับรองจากอำเภอ/ เขต
     
  2. บิดาและมารดา หรือผู้มีอำนาจปกครอง นำบัตรประชาชนฉบับจริงมาลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ (กรณีบัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุใช้งาน หรือ บัตรที่ใช้แทนได้ตามกฎกระทรวงมหาดไทยของบิดา มารดา หรือผู้มีอำนาจปกครองฉบับจริง หากชื่อนามสกุลบิดา มารดาในสูติบัตรไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน ให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ หรือ นามสกุลที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย สำหรับกรณีที่มารดาหย่าและจดทะเบียนสมรสใหม่และใช้นามสกุลใหม่ตามสามี ให้นำหลักฐานการหย่าและการสมรสที่เป็นต้นฉบับมาแสดงกับเจ้าหน้าที่)
  1. หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ และบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของบิดาหรือมารดาที่ไม่สามารถมาแสดงความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่
    **หนังสือยินยอมของบิดา/มารดา ต้องผ่านการรับรองจากอำเภอ/เขต 
  1. หนังสือเดินทางเล่มเดิม (หากมี)
  1. บัตรประจำตัวประชาชน (หากมี)

        6. เอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น อาทิ หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรอง บุตรหรือรับบุตรบุญธรรม บันทึกการหย่า ซึ่งมีข้อความระบุให้บุตรอยู่ใน   
            ความดูแลของบิดา หรือมารดา เป็นต้น

        7. กรณีดังต่อไปนี้ ได้แก่ (1) บิดา-มารดาของผู้เยาว์เสียชีวิต (2) บิดา-มารดาของผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติที่มิได้จดทะเบียนสมรส และไม่สามารถตามหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาให้
            ความยินยอมได้ (3) บิดา-มารดามิได้จดทะเบียนสมรสแต่บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาฝ่ายเดียวมาตลอด และไม่สามารถตามหามารดาได้ ให้นำคำสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มี
            อำนาจปกครอง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจปกครองมาแสดง

 

2. ผู้เยาว์อายุระหว่าง 15 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์

ผู้เยาว์ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ที่ทำบัตรประชาชนแล้วสามารถติดต่อขอทำหนังสือเดินทางด้วยตนเอง โดยมีหนังสือยินยอมของบิดาและมารดา หรือ ผู้มีอำนาจปกครองที่ยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศที่ผ่านการรับรอง จากอำเภอ/เขตมาแสดงประกอบการยื่นคำร้อง หากไม่มีหนังสือยินยอม บิดาและมารดาหรือผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ต้องมาลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ใน วันที่ยื่นคำร้อง (หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาไม่ได้ ให้มาลงนามในวันรับเล่ม) หรือ มีหนังสือยินยอม จากฝ่ายที่มาไม่ได้มาแสดง เอกสารที่นำมายื่นขอหนังสือเดินทางต้องเป็นต้นฉบับหากเป็นสำเนาต้องผ่านการ รับรองสำเนาถูกต้อง จากหน่วยงานที่ออกเอกสารดังกล่าวเท่านั้น

เอกสารประกอบการขอหนังสือเดินทางธรรมดาของผู้เยาว์ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์

  1. บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุใช้งาน หรือ บัตรประจำตัวที่ใช้แทนตามกฎกระทรวง มหาดไทย
  2. หนังสือเดินทางเล่มเดิม (หากมี)
  3. หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศที่ผ่านการรับรองจากอำเภอ/เขต และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครอง พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
  4. เอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น อาทิ หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรองบุตรหรือรับบุตรบุญธรรม ใบสำคัญการสมรส ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนบ้าน คำสั่งศาลกรณีระบุผู้มีอำนาจปกครองแทนบิดามารดา เป็นต้น
  5. กรณีที่ผู้มีอำนาจปกครองอยู่ในต่างประเทศ ให้ทำหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ ผ่านสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลไทยในประเทศที่พำนักอยู่ หากผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้ปกครองไม่สามารถมาดำเนินการด้วยตนเองและประสงค์จะมอบอำนาจให้ผู้อื่น มาดำเนินการแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจ และหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ โดยหนังสือทั้ง 2 ฉบับ ต้องผ่านการรับรองจาก สอท./สกญ. (สถานทูต/สถานกงสุล) กรณีบิดามารดาหย่าตามกฎหมาย ให้ผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ตามที่ระบุในบันทึกการหย่าเป็นผู้ลงนามพร้อม แสดงทะเบียนหย่าและบันทึกการหย่า
  • ผู้เยาว์ที่เกิดจากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส มารดาสามารถลงนามได้ฝ่ายเดียว โดยให้ทำบันทึกคำให้การจากอำเภอ/เขตยืนยันว่าไม่ได้จดทะเบียนสมรสพร้อมแสดงหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชนที่มีอายุใช้งานเป็น “นางสาว” ต่อเจ้าหน้าที่รับคำร้อง
  • มารดาผู้เยาว์ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสแต่ใช้คำนำหน้า “นาง” สามารถลงนามได้ฝ่ายเดียว โดยนำหนังสือรับรองการอุปการะบุตรแต่เพียงผู้เดียวจากอำเภอ/เขต มาแสดงผู้เยาว์เกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน มารดาต้องมาลงนามให้ความยินยอม บิดา ไม่สามารถลงนามยินยอมให้ผู้เยาว์เพียงฝ่ายเดียวได้ เว้นแต่ว่ามีคำสั่งศาลมาแสดงว่าศาลให้บิดาเป็นผู้อุปการะผู้เยาว์แต่ผู้เดียว
  • บิดามารดาผู้ให้กำเนิดผู้เยาว์ที่ได้ยกผู้เยาว์ให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่นแล้วไม่สามารถลงนามแทนบิดามารดาบุญธรรมได้ต้องให้บิดามารดาบุญธรรมเป็นผู้ลงนาม
  • เอกสารที่นำมายื่นขอหนังสือเดินทางต้องเป็นต้นฉบับหากเป็นสำเนาต้องได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องจากหน่วยงานที่ออกเอกสารดังกล่าวเท่านั้น

 

3. ข้อควรปฏิบัติในวันมายื่นคำร้อง

กรณีบิดาและมารดาจดทะเบียนสมรสบิดาและมารดาต้องมาลงนาม(ต่อหน้าเจ้าหน้าที่)ในคำร้องขอหนังสือเดินทางทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สะดวกมาลงนามในวันที่ผู้เยาว์ยื่นคำร้อง ให้มาลงนามในวันรับเล่มได้ หรือทำหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ ผ่านอำเภอ/เขต พร้อมบัตรประชาชนที่มีอายุใช้งานบิดา มารดาตัวจริง

 

4. ค่าใช้จ่ายในการทำหนังสือเดินทาง

 - ค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทาง รับเป็นเงินสด 40 ดอลลาร์สหรัฐ 

-  ค่าส่งหนังสือเดินทางทางไปรษณีย์พิเศษตามที่บริษัทไปรษณีย์คิดค่าบริการ เช่น DHL (เก็บเงินปลายทางที่ผู้รับ)

 

5. คำแนะนำทั่วไป

1.    ผู้มีหนังสือเดินทางที่อายุใช้งานเหลือ 6 เดือนหรือน้อยกว่า ควรขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ โดยนำหนังสือเดินทางเล่มเก่ามายกเลิกด้วย

2.    ในส่วนของผู้ที่อยู่นอกประเทศตุรกี ควรเดินทางมาทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ก่อนหนังสือเดินทางเหลืออายุใช้งาน 6 เดือน เนื่องจากอาจประสบปัญหาสายการบินปฏิเสธไม่ให้ทำการบินได้

3.    ผู้รับบริการจะได้รับเล่มหนังสือเดินทางทางไปรษณีย์ภายในประมาณ 1 เดือน - 1 เดือนครึ่ง (4 - 6 สัปดาห์) โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ จะจัดส่งตามที่อยู่ที่ผู้รับบริการระบุไว้ ทั้งนี้ ขอให้ผู้รับบริการกรอกที่อยู่ไปรษณีย์ให้ถูกต้องชัดเจน เพื่อป้องกันการสูญหายและความล่าช้าในการจัดส่ง กรณีไม่ได้รับเล่มหนังสือเดินทางตามกำหนดดังกล่าว โปรดติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ โดยด่วน