เอกอัครราชทูตฯ เป็นประธานการประชุมระหว่างสถานเอกอัครราชทูตฯ กับกงสุลกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้า

เอกอัครราชทูตฯ เป็นประธานการประชุมระหว่างสถานเอกอัครราชทูตฯ กับกงสุลกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้า

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,423 view
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 นางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกอัครราชทูตฯ เป็นประธานการประชุมระหว่างสถานเอกอัครราชทูตฯ กับกงสุลกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้า โดยมีผู้เข้าร่วมคือ (1) นาย Mr. Refik Gökçek กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครอิสตันบูล (2) นาย Cemil Cakar ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าของกระทรวงพาณิชย์ไทย (3) นาย Omer Celal Umur กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองอิซเมียร์ (4) นาย Cihangir Coskun Kubilay กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมือง โบลู ซึ่งทั้งสองท่านหลังเพิ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 63 และ (5) ข้าราชการทีมประเทศไทยของสถานเอกอัครราชทูตฯ

ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้แสดงความยินดีกับการรับตำแหน่งใหม่ของกงสุลกิตติมศักดิ์ทั้งสองท่าน ตลอดจนขอบคุณนาย Refik และนาย Cemil สำหรับการช่วยเหลือภารกิจต่าง ๆ ของสถานเอกอัครราชทูตฯ ในช่วงที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตฯ ได้แจ้งวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ว่า (1) เพื่ออธิบายหน้าที่และบทบาทที่สำคัญของกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยภายใต้ระเบียบใหม่ว่าด้วยการแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่ของกงสุลกิตติมศักดิ์ฉบับปี 2563 ตลอดจนเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานะความสัมพันธ์ไทย-ตุรกี และแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในมิติต่าง ๆ และ (2) เพื่อให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐกิจของไทย รวมถึงสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ฯลฯ ซึ่งภายหลังการประชุม กงสุลใหญ่/กงสุลกิตติมศักดิ์ และผู้แทนการค้าทั้ง 4 คน ได้แสดงความขอบคุณสถานเอกอัครราชทูตฯ เป็นอย่างยิ่ง เพราะการแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของตนในการช่วยส่งเสริมประโยชน์ของประเทศไทย และความสัมพันธ์ไทย-ตุรกี

ทั้งนี้ สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองอิซเมียร์มีอาณาเขตครอบคลุมเมือง Aydin, Denizli, Mugla และ Manisa ในขณะที่สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองโบลูมีอาณาเขตครอบคลุมเมือ Duze, Zonguldak, Bartin, Karabuk, และ Cankiri กงสุลกิตติมศักดิ์และผู้แทนกิตติมศักดิ์ด้านการค้าข้างต้นเป็นชาวตุรกีที่เป็นนักธุรกิจที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลไทยให้ช่วยสนับสนุนภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตฯ ในการส่งเสริมผลประโยชน์ของไทยในตุรกี และความสัมพันธ์ไทย-ตุรกี โดยในกรณีของกงสุลกิตติมศักดิ์นั้น จะมีบทบาทในการช่วยสนับสนุนงานด้านกงสุลด้วย (นอกเหนือจากงานด้านเศรษฐกิจ) บุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งในสถานะกิตติมศักดิ์/สมัครใจ โดยไม่ได้รับเงินเดือนตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่


รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ